จากฟรีแลนซ์สู่การเป็น “Dev ที่พูดรู้เรื่อง” ที่ MongoDB - Coders At Work | WorkWithCode
February 13, 2024
|
11 mins read

จากฟรีแลนซ์สู่การเป็น “Dev ที่พูดรู้เรื่อง” ที่ MongoDB

คุยกับพี่จ๊อบ จิรชัย จันทร์สิวานนท์ Consulting Engineer จาก MongoDB Singapore กับเป้าหมายของการเป็น “Technical ที่พูดได้”

จากฟรีแลนซ์สู่การเป็น “Dev ที่พูดรู้เรื่อง” ที่ MongoDB

พี่จ๊อบ จิรชัย จันทร์สิวานนท์ Consulting Engineer จาก MongoDB ที่สนใจการพูดไม่แพ้การเขียนโค้ด

เรื่องราวของพี่จ๊อบไม่ได้มีเพียงการทำงานและเติบโตทางตำแหน่ง เพราะพี่จ๊อบได้สร้างตัวเองให้แตกต่างด้วยสิ่งที่ developer หลายคนมองข้าม นั้นก็คือเรื่องของ “การสื่อสาร”

จากจุดเปลี่ยนของเด็กมหาวิทยาลัยที่เป็นฟรีแลนซ์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ได้ก้าวมาอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้

พี่จ๊อบได้สร้างตัวเองและพัฒนาเส้นทางของตัวเองยังไง มาร่วมหาคำตอบกันในบทความนี้กันครับ

สวัสดีครับ ช่วงนี้ชีวิตเป็นไงบ้างครับ งานที่ทำมีหน้าตาประมาณไหน

ขอพูดตำแหน่งพี่ก่อนนะ เวลาคนอยากใช้ MongoDB ก็จะมีคนเข้าไปขายใช่มะ มี pitching โน่นนี่นั้น 

ตกลงกันเรียบร้อยว่าฉันต้องการจะใช้ MongoDB แล้วฉันจะติดตั้งเอง หรือจะจ้างใครสักคนทำ 

ซึ่งใครสักคนทำก็มีช้อยส์อีกว่า จะไปจ้างบริษัทหรือจะไปจ้างผู้ที่เป็นเจ้าของ product เองอย่าง MongoDB นั่นคือทีมที่พี่อยู่ชื่อว่า professional service ก็คือทีมที่จะลงไปช่วยทำให้กับลูกค้า

ลูกค้าอยากจะติดตั้ง MongoDB แบบนี้ อยาก integrate กับเครื่องมืออื่น ๆ  อยากย้ายจากเครื่องนี้ มาเครื่องนี้ หรืออยากย้ายจาก database รูปแบบนี้มาที่นี้ ซึ่งเขาก็จะเข้ามาซื้อเป็น man days 

นอกจากนี้บางทีก็จะมีงาน training ให้ทำ งานหลัก ๆ ไม่อยู่กับลูกค้า ก็ไปสอนลูกค้าแทน โดยงานทั้งหมดร้อยละ 80-90 ทำแบบ remote แต่ส่วนใหญ่พี่ก็จะอยู่ที่สิงคโปร์เป็นหลักเพราะลูกค้าพี่อยู่แถบนั้นเป็นหลัก ส่วนลูกค้าไทยก็มีบ้างประปราย

ถ่ายรูปกับ Evan You ที่งาน CityJS Conference ที่ Singapore
ถ่ายรูปกับ Evan You ที่งาน CityJS Conference ที่ Singapore

อะไรเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในงานหรอครับ

ย้อนกลับมาที่ชื่อทีม “Professional Service” นั่นแปลว่าเราต้องรู้ลึกมาก ๆ และดีเทลใน product ของ MongoDB ก็มีเยอะมาก ๆ

สิ่งที่ยากที่สุดคือเราจะทำตัวยังไงให้ professional ทั้งในแง่ของ “ความรู้” และ “การวางตัว” 

เวลาเราเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด เราต้องใจเย็น คุมสถานการณ์ วิเคราะห์สถานการณ์ข้างหน้าได้ดี หมายความว่าเราต้องรีบมองเห็นปัญหา และมองหา possibility อยู่ตลอดว่าเราจะทำยังไงถึงจะแก้งานข้างหน้าได้ ถึงแม้ว่าเราจะแก้ไม่ได้ทันที แต่เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าพอใจ

นี่คือสิ่งที่พี่ได้เรียนมา 4 ปีตอนเป็น sale อยู่ Microsoft จริง ๆ สองปีสุดท้ายปีตัดสินใจไปลงเรียนการแสดงด้วย ที่เรียนเพื่อไปเป็นนักแสดงเลยอ่ะ …ลึก ๆ พี่ก็อยากเป็นนักแสดงเบา ๆ (ฮา)

แต่ไปเรียนมันก็ทำให้พี่รู้จักตัวเองขึ้นมาก และสามารถความคุมอารมณ์ของตัวเองได้ พอเราคุมอารมณ์ได้ เราก็จะสามารถคุมสถานการณ์ยาก ๆ ได้

“ความรู้ ความน่าเชื่อถือ การคุมสถานการณ์ ทำตัวให้นิ่งและรู้ให้เยอะที่สุด”

ส่วนในฝั่ง technical เราก็ต้องรู้ลึกพอที่จะให้คำแนะนำในด้านการ implement application ที่เกี่ยวข้องกับ MongoDB การ optimize performance รวมไปถึงการ interface กับ tools หรือ products อื่น ๆ 

ซึ่งนั่นทำให้พี่นอกจากจะต้องเข้าใจ MongoDB แล้ว ยังต้องเข้าใจ fundamentals ของ products อื่น ๆ ด้วยที่ลึกระดับนึง

มีงานนึงพี่ที่ทำมีลูกค้าเป็นรัฐบาลของสิงคโปร์ ที่ห้ามเอาอะไรเข้าไปเลยยกเว้นสมุดโน้ตเล็ก ๆ แค่อันเดียว แถม internet ก็ไม่มีอีก แล้วถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมพี่ต้องแตะบัตร เช็ค security แบบยุ่งยากมาก พี่เลยต้องซ้อมอยู่ประมาณ 2 วัน 

มันเลยเป็นงานที่บังคับให้พี่ต้องรู้ลึก แต่พี่ว่านั่นหล่ะคือ standard ที่เราควรจะรู้เกี่ยวกับ tools ต่าง ๆ 

ส่วนตอนศึกษาพี่จะเป็นพวกที่เวลาเห็นของอยู่ด้านหน้าพี่จะกระโดดลงไปเล่นเลย ปกติมาก เช่นเวลาพี่ซื้อของมาพี่จะชอบโยน manuel ทิ้ง จนบางทีต้องกลับไปหาเหมือนกัน (ฮา) 

พี่ชอบที่จะเห็นของพัง และเรียนรู้ตอนที่มันพัง”

พี่ชอบทำ PoC (proof of concept) ลองเล่นและเรียนรู้ตอนที่มันพัง แต่หลัง ๆ พี่ก็เริ่มจดโน้ตควบไปด้วย เพื่อตกผลึกและเรียนรู้จากความผิดพลาด

แงะพัดลมทำระบบ IoT
แงะพัดลมทำระบบ IoT

พี่เป็นคนนึงที่พลังงานเยอะมาก เขียนบล็อก เป็นคนพูดแชร์ความรู้ต่าง ๆ ทำไมพี่ถึงทำ community หรอครับ

พี่เริ่ม community เพราะมันเป็นความอยากส่วนตัวล้วน ๆ แล้วพี่ก็ได้อะไรหลายอย่างจาก community เยอะมาก ได้เรียนรู้ ได้เจอคนเก่ง ๆ

วันนึงฉันได้เรียนรู้อะไรสักอย่างแล้ว ฉันอยากเอามาแชร์ให้กับคนใน community นี้อีกครั้งนึง พี่เป็นคนชอบเล่า พี่ก็เลยอยากใช้พื้นที่ตรงนี้เล่าให้คน และฟังจากคนอื่นด้วย 

“Community สร้างพี่มา”

ถึงมันจะเหนื่อยแต่มันรู้สึกเติมเต็ม พี่ดีใจทุกครั้งเวลาที่เห็นคนทำอะไรสำเร็จ แล้วยิ่งจากการที่ได้อะไรจากการที่เราแชร์ มันยิ่งสนุกมาก

สิ่งที่พี่เห็นมาตลอดในการจัด community คือการที่แต่ละคนเติบโตและสำเร็จในทางของตัวเอง จากคนที่นั่งฟัง กลายเป็นคนพูดแชร์บน stage

สิ่งที่สำคัญที่พี่บอกคนอื่นเสมอคือ “อย่าไปกลัว” ตอนที่พี่ได้มีโอกาศจับไมค์เป็น MC ครั้งแรกพี่โดนคอมเมนท์ใน stream ด่า แน่นอนว่าในตอนแรกมันเจ็บ แต่พอได้มาคิดและเอาฟีดแบคมาพัฒนามันก็ทำให้พี่ไปไกลกว่าเดิม

Community

ในสายตาของพี่ product ที่ดีเป็นยังไงหรอครับ ?

ในสายตาของพี่ product ที่ดีคือ product ที่รับฟังลูกค้าตลอดเวลา และมี update และคอย maintenance อยู่เรื่อย ๆ

ยกตัวอย่างเช่นรถพี่เอง Tesla เป็นรถที่มีอัพเดตเยอะมาก ๆ ตอนที่พี่ซื้อรถมายังไม่มีปุ่มเปลี่ยนภาษาใน keyboard เลย แต่ทุกวันนี้ใช้ได้ละ เป็นรถที่ของเล่นเยอะมาก API ก็มีให้เล่น โคตรเหมาะกับ developer เลย มาถึงตอนนี้พี่ก็รู้สึกว่าเกินคุ้มแล้วกับราคาที่ซื้อมาแล้ว

“ใช้งานง่าย รับฟังลูกค้า และอัพเดทอยู่ตลอด”

ส่วนเรื่องการ go to market พี่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของทำ product ให้ออกมาดี แต่เป็นเรื่องของการทำ “storytelling”

มันคือเรื่องของการที่เล่าจะยังไงว่าทำไม product นี้มันถึงเจ๋ง …ไม่ใช่เพราะเราใช้ framework หรือ tools ที่มัน advanced แต่มันคือการที่เราเล่าออกมาได้ว่า “product นี้มันแก้ปัญหาอะไร?”

เวลาพี่จะปล่อยผลงาน พี่จะพยายามเขียนออกมาเป็นโพสสั้น ๆ โพสนึง จากนั้นก่อนที่จะโพสพี่จะลองส่งไปเช็คกับคนรอบข้างก่อนว่ามีปัญหาเหมือนกันไหม

ส่วนอีกอันนึงก็คือพี่ก็จะดูว่าเราจะทำยังไงใช้ product เราได้ง่ายด้วย ติดตั้งง่าย เริ่มใช้งานได้ง่าย ไม่มี step เยอะจนเกินไป

ทุกอย่างมันวนกลับมาที่คำว่า “ง่าย” หมดเลย

ยกตัวอย่างเช่น product ที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ไป พี่ต้องเขียนตัว convert MongoDB ปกติ ให้เป็น MongoDB เวอร์ชั่น encrypted ทั้งตอนเก็บและตอนใช้งาน มันต้องเขียนแอพตัวนึงขึ้นมา ซึ่งของแบบนี้พี่ทำ 2 วันหรือวันเดียวก็เสร็จ

แต่พี่เลือกที่จะทำ CLI ที่ให้แค่ลูกค้าพิมพ์ parameters แล้วก็รันได้เลย พี่ใช้เวลาเกือบทั้งวันเพื่อเขียน document เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่ใช่ developer สามารถใช้ได้ มี experience การใช้งานที่ง่ายยิ่งขึ้น

แล้วในมุมที่ไม่ใช่ product …ตอนที่พี่เข้า MongoDB พี่ขายหรือวาง storytelling ให้ตัวเองยังไงหรอครับ

พี่มักจะเอาสิ่งที่เราทำมา และสิ่งที่ทำมาแล้วภูมิใจ กล้าเล่า มาเล่า

ย้อนกลับไปตอนที่เป็นนักศึกษา พี่เรียน computer science พี่ก็เชื่อว่าตัวเองเป็น developer คนนึง

แล้วพี่ก็อยากเป็น “dev ที่พูดภาษาคนรู้เรื่อง” หลังจากนั้นพี่ก็พยายาม build career ให้ตัวเองแข็งด้านนี้เรื่อย ๆ มาโดยตลอด ทั้งการเลือกบริษัทหรือการทำงาน community ก็ตาม 

ตอนที่พี่อยู่ Microsoft จริง ๆ ตอนแรกพี่เป็น cloud architect จากนั้นก็หักมุมเลย เปลี่ยนมาเป็น pre sales เพราะฉันรู้สึกว่า “ฉันรู้ technical มาเยอะละ แล้วฉันสนใจมากเลยว่าคุยกับลูกค้าคุยยังไง” เพื่อทำให้แข็งทั้งเรื่องของ technical และเรื่องของการพูด

Microsoft

ตอนที่พี่เข้า MongoDB พี่ก็ขายตัวเองว่า ฉันเนี่ยเป็น dev เขียนโปรแกรมได้ อยากให้เขียนให้ดูไหมเดี๋ยวเขียนให้ดู อยากให้เล่าไหมว่าทำอะไรมาบ้าง ตอนอยู่ Microsoft ทำอะไรมาบ้าง อะไรคือผลงานเด่น ๆ

แล้ว value ที่ฉันจะให้กับคุณได้ ของคุณคือ technical เพียว ๆ ใช่ป่ะ แต่สิ่งที่ฉันทำมาเนี่ยเรียนเองนะ และสามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้คนที่เป็นทั้ง technical และ non-technical เข้าใจได้ด้วย

  “technical ฉันแข็งนะ แล้วก็ฉันก็พูดได้”

พี่พยายามอุดรอยรั่วมาเรื่อย ๆ ไป community คุยกับคนเก่ง ๆ และเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ได้ฝึกทั้งฝั่ง technical และ non-technical เพื่อให้ตัวเองพูดได้ว่า “technical ฉันแข็งนะ แล้วก็ฉันก็พูดได้”

นั่นคือสิ่งที่พี่พยายามขายตัวเอง แล้วก็ set กับตัวเองมาเรื่อย ๆ ตลอดเวลา

มันน่าสนใจมากว่าพี่รู้ตัวว่าอยากเป็น dev ที่พูดได้ แล้วทุกอย่างที่พี่ทำก็เชื่อมโยงกับสิ่งนี้หมดเลย พี่รู้ตัวเองได้ยังไง?

เรารับงานจากบริษัทใหญ่ในไทยเจ้าหนึ่ง ในฐานะ freelance ผ่าน agency แต่มีวันนึงประชุม PM ไม่ได้เข้า แล้วก็มีแค่ฉันคนเดียวที่อยู่ในห้องประชุมกับลูกค้า

ลูกค้าถามว่า อันนี้ทำได้มั้ย อันนี้ทำอะไร อันนี้คืออะไร

พี่รู้ตัวแล้วว่าตอบเป็นภาษา programming ไม่ได้แน่ ๆ ถ้าพูดไปคำถามเต็มหัวแน่นอน พี่ก็เลยย้อนนึกคำพูดของ PM แล้วเพิ่มสิ่งที่เรารู้เข้าไป พี่เลยรู้สึกว่าพี่ก็พูดได้นี่หว่า พูดให้เป็นภาษาคน 

“พี่อยากเป็น dev++ ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น มากกว่าการเขียนโปรแกรมเพียงอย่างเดียว”

พี่คิดว่าการสื่อสารมันสำคัญมาก ทำให้เรางานไปเร็วและจบงานได้ไวขึ้น เป็นเหมือนกับ bridge ที่เชื่อมคนให้ทำงานด้วยกันได้ง่ายขึ้น พอพี่ได้คุยกับพี่ ๆ หลายคนก็ทำให้พี่รู้ตัวมากขึ้นว่าพี่มาถูกทางแล้ว พี่เลยหาโอกาสให้ตัวเองได้ฝึกทั้งสองอย่างมาตลอด

จริง ๆ เหตุผลนึงที่พี่เลือกเป็น technical ที่ MongoDB ก่อนไปเป็น sale เพราะพี่อยากรู้ก่อนว่า product มันคืออะไร ทำได้แค่ไหน  …เพราะพอเราอินกับ product ตอนขายมันจะ realistic และจะสนุกกว่าเยอะเลย …“พอเราอินจริง ๆ แล้วเราจะขายได้ดีกว่าเดิม”

“เป้าหมายของพี่คือการเป็น technical พี่พูดได้”

พี่คิดว่าเวลาเราจะทำอะไรพยายาม +1 ให้กับตำแหน่งหน้าที่ของเรา เพราะมันทำให้เรามี value มากกว่าคนอื่น ลงมือทำ ล้มเหลวให้ไวและเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำเป้าหมายของเราให้แข็งขึ้นทุกวัน

พี่จ๊อบ จิรชัย จันทร์สิวานนท์ Consulting Engineer จาก MongoDB

Coders At Work บทสัมภาษณ์ที่จะชวนผู้อ่านไปพูดคุยเจาะลึก “กระบวนการแก้ปัญหา” และ “วิธีคิดเบื้องหลัง”  ของนักพัฒนาเก่ง ๆ ในประเทศไทย 

ติดตามบทความต่อไปได้ที่เพจและเว็บ LearnAlgorithm หรือเว็บไซต์ WorkWithCode แล้วพบกันครับ~